เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน แต่การใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นเวลานานในแต่ละครั้ง ก็ส่งผลต่อบิลค่าไฟในแต่ละเดือน สาเหตุจากเครื่องใช้ไฟฟ้ามีกำลังไฟไม่เท่ากัน จึงกินไฟต่างกัน มาดูว่า 15 เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุดมีอะไรบ้าง พร้อมทั้งบอกวิธีประหยัดไฟเบื้องต้น และเทคนิคการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ตรงกับการใช้งาน
วัตต์คืออะไร
วัตต์ (Watt) คือ หน่วยวัดกำลังไฟฟ้าที่เป็นตัวบอกพลังงานไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้า มีสัญลักษณ์ใช้แทนหน่วยวัด คือ W (Watt) หากเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน มีจำนวนวัตต์มากเท่าไหร่ จะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟมากเท่านั้น และส่งผลต่อค่าไฟในแต่ละเดือนให้สูงตามไปด้วย
หากอยากรู้ว่า เครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟเท่าไร สามารถใช้สูตรคำนวณไฟฟ้า คือ (จำนวนวัตต์เครื่องใช้ไฟฟ้า x ค่าไฟต่อยูนิต) ÷ 1,000 = ค่าไฟฟ้า (บาท/ชม.) โดยกำหนดค่าไฟ เป็น 3.9 บาทต่อยูนิต เช่น 500 x 3.9) ÷ 1,000 = 1.95 บาท หรือ 2 บาทต่อยูนิต เป็นต้น
15 เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุด ในชีวิตประจำวัน
เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภท จะกินไฟปริมาณต่างกันตามการใช้งาน มาดูกันว่า 15 เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทไหนกินไฟมากที่สุด มาดูอัตราการใช้ไฟ และอัตราการสิ้นเปลืองค่าไฟพร้อมๆ กันได้เลย
1. เครื่องทำน้ำอุ่น
เครื่องทำน้ำอุ่น คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนกระแสน้ำเย็นให้กลายเป็นน้ำที่อุ่น และต้องใช้พลังงานไฟฟ้าต่อเนื่องเพื่อทำให้น้ำอุ่นขึ้น จึงทำให้เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุดในบ้าน โดยเครื่องทำน้ำอุ่นจะใช้ไฟประมาณ 3,500–18,000 วัตต์ ตามขนาดและประเภทของเครื่องในการใช้งาน และมีการสิ้นเปลืองค่าไฟชั่วโมงละ 12–70 บาท
2. หม้ออบลมร้อน
หม้ออบลมร้อน คือ อุปกรณ์ทำอาหารประเภทอบ ย่าง หรือปิ้ง ซึ่งอบลมร้อนโดยใช้หลอดไฟฮาโลเจนเป็นตัวปล่อยแสงสีแดง และแสงอินฟราเรด ซึ่งจะมีพัดลมคอยหมุนเวียนความร้อนภายในหม้อ เพื่อให้อาหารสุกเท่ากัน โดยใช้ไฟประมาณ 1,200–2,500 วัตต์ ขึ้นอยู่กับขนาด การปรับอุณหภูมิ ระยะเวลาในการอบ และสิ้นเปลืองค่าไฟชั่วโมงละ 5–10 บาท
3. เครื่องซักผ้า
เครื่องซักผ้า เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อำนวยความสะดวก ในการทำความสะอาดคราบหรือสิ่งสกปรกออกจากเนื้อผ้า โดยการหมุนถังเพื่อซักทำความสะอาดคราบ และปั่นเสื้อผ้าให้แห้งตามเวลาที่ตั้งไว้ ซึ่งเครื่องซักผ้าใช้ไฟจะใช้ไฟประมาณ 3,000 วัตต์ อัตราสิ้นเปลืองค่าไฟชั่วโมงละ 12 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการโปรแกรม การตั้งเวลา ตั้งระดับน้ำ และปริมาณการซักผ้าต่อเดือน เรียกได้ว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่กินไฟมากที่สุดเช่นกัน
4. เครื่องปรับอากาศ
เครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ ทำหน้าที่ปรับอุณหภูมิในห้องให้เย็นลงกว่าอุณหภูมิภายนอก โดยดูดซับความร้อนภายในห้องไปยังนอกห้อง และส่งผ่านลมเย็นไปสู่บริเวณห้องได้ตามต้องการ โดยเครื่องปรับอากาศจะใช้ไฟประมาณ 1,200-3,300 วัตต์ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ระบบทำความเย็น และขนาดพื้นที่ (BTU) ทำให้เครื่องปรับอากาศ เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุด เพราะสิ้นเปลืองค่าไฟชั่วโมงละ 5-13 บาท
5. เตารีดไฟฟ้า
เตารีดไฟฟ้า เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้รีดผ้าให้เรียบ ให้เสื้อผ้าดูสะอาดเรียบร้อย หากเป็นเตารีดธรรมดา จะมีปุ่มปรับอุณหภูมิ และแผ่นความร้อนแบบโลหะเพื่อใช้ในการรีดผ้า แต่เตารีดแบบไอน้ำ จะมีปุ่มเปิด-ปิดช่องไอน้ำ เพื่อใช้ไอน้ำสำหรับการรีดผ้าโดยเฉพาะ ทำให้การรีดผ้าหนึ่งครั้ง ใช้ไฟประมาณ 1,000-2,600 วัตต์ ขึ้นอยู่กับการทำความร้อน มีอัตราสิ้นเปลืองค่าไฟชั่วโมงละ 4–10 บาท ถึงเตารีดทั้งสองจะทำงานต่างกัน แต่ก็เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่กินไฟมากที่สุดไม่แพ้เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ
6. ไดร์เป่าผม
ไดร์เป่าผม คือ อุปกรณ์ที่ช่วยเป่าผมให้แห้งไวขึ้นหลังจากสระผม หรือใช้ในการจัดทรงผมต่างๆ ไดร์เป่าผมแบ่งออกได้เป็น ไดร์เป่าผมไอออนิก (Ionic) ที่ปล่อยประจุไอออนลบ และไดร์เป่าผมเซรามิก (Ceramic) โดยไดร์เป่าผมมีปริมาณการใช้ไฟ 1,000–2,200 วัตต์ ขึ้นอยู่กับการปรับระดับความร้อนหรือแรงลม และสิ้นเปลืองค่าไฟชั่วโมงละ 4–9 บาท
7. เครื่องดูดฝุ่น
เครื่องดูดฝุ่น คือ อุปกรณ์สำหรับการดูดทำความสะอาดสิ่งสกปรกทั่วไป เช่น ฝุ่นแห้ง ฝุ่นเปียก เส้นผม ขนสัตว์เลี้ยง และเศษสิ่งสกปรกต่างๆ ทำงานโดยใช้พลังงานมอเตอร์สูง เพื่อดูดทำความสะอาด และใช้ไฟตั้งแต่ 750-2,200 วัตต์ ขึ้นอยู่กับขนาดและการปรับแรงลมในการดูด รวมถึงสิ้นเปลืองค่าไฟชั่วโมงละ 3–9 บาท
8. เครื่องปิ้งขนมปัง
เครื่องปิ้งขนมปัง ประหยัดเวลาในการเตรียมอาหารก็จริง แต่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุดพอสมควร เนื่องจากใช้ไฟประมาณ 800–1,000 วัตต์ ขึ้นอยู่กับขนาดเครื่องและการปรับระดับอุณหภูมิ ซึ่งสิ้นเปลืองค่าไฟชั่วโมงละ 3–4 บาท
9. หม้อหุงข้าวไฟฟ้า
หม้อหุงข้าวไฟฟ้า แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ หม้อหุงข้าวธรรมดา หม้อหุงข้าวฝาล็อก และหม้อหุงข้าวที่ไมโครโพรเซสเซอร์ หม้อหุงข้าวที่กล่าวมาทั้งหมด นับว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุด เพราะใช้ไฟประมาณ 450-1,500 วัตต์ ขึ้นอยู่กับขนาดและความจุของลิตรหม้อหุงข้าว และสิ้นเปลืองค่าไฟชั่วโมงละ 2-6 บาท
10. กาต้มน้ำร้อน
กาต้มน้ำร้อน คือ อุปกรณ์ที่ต้มน้ำได้รวดเร็วทันใจ ทำงานโดยใช้ระบบไฟฟ้าต้มน้ำให้เดือด และเมื่อน้ำเดือดระบบก็จะตัดไฟอัตโนมัติทันที เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน แต่กาต้มน้ำร้อนไม่สามารถเก็บความร้อนไว้ได้นาน ทำให้ต้องต้มใหม่ทุกครั้ง จึงทำให้กาต้มน้ำร้อน เป็น 1 ใน 15 เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุด มีการใช้ไฟ 500-800 วัตต์ต่อการใช้งานหนึ่งครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับระบบทำความร้อน และระยะเวลาด้วย เฉลี่ยอัตราสิ้นเปลืองชั่วโมงละ 2-3 บาท
11. เตาไฟฟ้า
เตาไฟฟ้า ที่นิยมใช้งานทั่วไปตามครัวเรือน หรือร้านอาหาร มีราคาไม่แพง ใช้กับภาชนะได้ทุกประเภท และใช้งานง่ายเหมือนเตาปกติทั่วไป โดยเสียบปลั๊ก เปิดเตา ก็เลือกระดับความร้อนที่ต้องการ และวางภาชนะลงบนเพื่อปรุงอาหารได้เลย แต่มีข้อจำกัด คือ ทำความร้อนช้า กินไฟมากกว่าเตาแม่เหล็กไฟฟ้า โดยใช้ไฟ 200-1,500 วัตต์ ขึ้นอยู่กับการปรับระดับความร้อน และค่าไฟเฉลี่ยชั่วโมงละ 0.80-6 บาท
12. เตาไมโครเวฟ
เตาไมโครเวฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในการอุ่นอาหาร ใช้งานง่าย เพียงแค่นำอาหารใส่เข้าไปในไมโครเวฟ ปรับเวลา ปรับความร้อนที่ใช้ในการอุ่นอาหาร จากนั้นไมโครเวฟจะแผ่คลื่นย่านความถี่ไมโครเวฟเพื่อให้ความร้อนกับอาหาร ไมโครเวฟใช้ไฟประมาณ 100-1,900 วัตต์ ต่อการอุ่นอาหารหนึ่งครั้ง ขึ้นอยู่กับเวลาและระดับความร้อน มีค่าไฟเฉลี่ยชั่วโมงละ 0.40–7 บาท ที่น้อยมาก แต่ยังเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุด เพราะ ไมโครเวฟเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกบ้านจะต้องมี ยิ่งบ้านไหนใช้งานไมโครเวฟเยอะ ยิ่งทำให้ค่าไฟสูงขึ้นตามไปด้วย
13. ตู้เย็น
ตู้เย็น คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำความเย็น เพื่อเก็บรักษาความเย็นให้กับเครื่องดื่ม อาหารสด ผัก และผลไม้ต่างๆ รวมถึงช่วยถนอมอาหารให้ไม้เน่าเสียง่าย เนื่องจากตู้เย็นต้องเสียบปลั๊กตลอด 24 ชั่วโมง จึงเป็นเครื่องใช้ไฟ้าที่กินไฟมากที่สุด การใช้ไฟของตู้เย็น มีอัตราอยู่ที่ 70-175 วัตต์ คิดเป็นค่าไฟเฉลี่ยชั่วโมงละ 0.2-0.7 บาท โดยขึ้นอยู่กับขนาดของตู้เย็น ยิ่งตู้เย็นมีขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งกินไฟมากเท่านั้น
14. พัดลมไฟฟ้า
พัดลม เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่กินไฟมากที่สุดรองลงมาจากแอร์ เมื่อเสียบปลั๊กไฟ กดปุ่มเลือกระดับลม กระแสไฟฟ้าก็ถูกส่งไปยังมอเตอร์ เพื่อให้แกนมอเตอร์หมุนใบพัด กลายเป็นลมพัดออกมาจึงช่วย โดยการเปิดพัดลมหนึ่งครั้งจะใช้ไฟประมาณ 35-80 วัตต์ ขึ้นอยู่กับขนาดกำลังมอเตอร์ใบพัด และสิ้นเปลืองชั่วโมงละ 0.1-0.3 บาท
15. โทรทัศน์
ส่งท้าย 15 อันดับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุดกับ โทรทัศน์ หรือ ทีวี อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับรับชมความบันเทิงรูปแบบต่างๆ เช่น รายการทีวี ละคร ภาพยนตร์ สารคดี ติดตามข่าวสาร และการถ่ายทอดสดต่างๆ หากใช้งานเป็นประจำทุกวัน จะยิ่งกินกำลังไฟวัตต์มากเท่านั้น การเปิดทีวีหนึ่งครั้ง จะใช้กำลังไฟ 80-180 วัตต์ ขึ้นอยู่กับขนาดของหน้าจอและแสงสว่างของหน้า รวมถึงสิ้นเปลืองเฉลี่ยชั่วโมงละ 0.3-0.7 บาท
วิธีประหยัดไฟฟ้า ลดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน
หลังจากรู้ว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทไหนบ้างที่กินไฟมากที่สุด ต่อมาก็เป็นการแนะนำวิธีประหยัดไฟฟ้าที่สามารถทำตามได้ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี ดังนี้
เปิดหน้าต่างรับลมและรับแสงจากธรรมชาติ
เปิดหน้าต่างเพื่อให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามา ให้ลมจากธรรมชาติเข้ามาหมุนเวียนภายในบ้าน ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า โดยไม่ต้องเปิดไฟเพื่อให้แสงสว่าง และไม่ต้องเปิดแอร์เพื่อทำความเย็น
ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าและถอดปลั๊ก
ปิดเครื่องและถอดปลั๊กทุกครั้งหลังใช้งาน ก็เป็นวิธีที่ช่วยประหยัดไฟได้ เพราะเมื่อปิดเครื่องและถอดปลั๊ก กระแสไฟฟ้าที่ไหลเวียนอยู่ก็จะหยุด และไม่มีการใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มเติม ช่วยประหยัดค่าไฟได้มากขึ้น
เลือกใช้หลอดไฟ LED
ปัจจุบัน หลอดไฟ LED เป็นที่นิยมในการใช้งานมากกว่าหลอดไฟแบบธรรมดา หากต้องการเปลี่ยนหลอดไฟ แนะนำให้เลือกหลอดไฟ LED เพราะให้แสงสว่างมากกว่า มีอายุการใช้งานยาวนาน เป็นหลอดไฟที่ไม่ปล่อยรังสี UV จึงปลอดภัยในการใช้งาน และกินไฟน้อยกว่าหลอดธรรมดา ทำให้ประหยัดพลังงานมากกว่า
ไม่เสียบปลั๊กชาร์จโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทิ้งไว้
การเสียบปลั๊กชาร์จโทรศัพท์มือถือ หรือชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ทิ้งไว้ ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าไหลเวียนตลอดเวลา กินไฟมากขึ้น และเสี่ยงไฟฟ้าลัดวงจร ดังนั้น เมื่อแบตเตอรี่เต็มแล้ว จึงควรถอดปลั๊กออกโดยทันที เพื่อให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลเวียน ช่วยลดความเสี่ยง และช่วยประหยัดไฟ
เปิดแอร์ในอุณหภูมิที่เหมาะสม
อุณหภูมิในการเปิดแอร์ ควรอยู่ที่ประมาณ 25-26 องศา ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เย็นสบาย ไม่หนาว ไม่ร้อนจนเกินไป อีกทั้งการปิดแอร์เร็วขึ้น 1 ชั่วโมง ก่อนออกไปทำธุระต่างๆ ก็ช่วยให้ประหยัดค่าไฟ และป้องกันการเสียค่าไฟแพงเกินไป
ติดตั้งโซลาร์เซลล์
หากต้องการประหยัดไฟมากกว่าเดิม สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้งานได้ โดยโซลาร์เซลล์เป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ที่ไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ยังช่วยลดความร้อนไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้าน ลดอุณหภูมิในบ้านได้ประมาณ 3-5 องศา ทำให้ประหยัดพลังงานไฟฟ้าจากการเปิดแอร์ระหว่างวัน
วิธีเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เหมาะกับการใช้งาน
การเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เหมาะกับการใช้งาน เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า สามารถเลือกได้ดังนี้
- มีเครื่องหมายมอก. เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเครื่องหมายมอก. หมายความว่า เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน มีการรับรองคุณภาพ และการตรวจเช็กการทำงาน เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย
- มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ฉลากประหยัดไฟเป็นตัวช่วยสำคัญในการเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะทำให้ผู้ซื้อได้รู้ว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดมากน้อยขนาดไหน ระดับของฉลากประหยัดไฟ มีตั้งแต่เบอร์ 1-5 หากเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5 ที่เป็นระดับสูงสุด ก็จะช่วยประหยัดค่าไฟได้มาก
- เทคโนโลยีใหม่ เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฟังก์ชันหรือเทคโนโลยีใหม่ เช่น หลอดไฟ LED หรือเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีโหมด ECO ก็จะช่วยประหยัดพลังงานเวลาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้านั้นๆ ได้
- จำนวนวัตต์ สังเกตได้จากฉลากตัวสินค้า เพื่อคำนวณค่าไฟในการใช้งาน หากเลือกกำลังวัตต์มาก จะทำให้ผลิตไฟมากขึ้น และค่าใช้จ่ายไฟเพิ่มขึ้น ดังนั้น ควรเลือกจำนวนวัตต์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ก็จะช่วยประหยัดได้มากที่สุด
- ขนาดเหมาะกับพื้นที่ เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับพื้นที่ใช้งาน เช่น เลือก BTU ของแอร์ให้เหมาะกับขนาดห้อง เลือกเครื่องฟอกอากาศที่เหมาะกับขนาดห้อง เพื่อไม่ให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักเกินความจำเป็น
- การติดตั้งและการดูแลรักษา ติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยืดอายุการใช้งาน รวมถึงดูแลรักษาอยู่เสมอ หากพบว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุดหรือเสียหาย ควรซ่อมโดยทันที เพื่อป้องกันปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร หรือเครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟมากเกินไป
สรุป
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุด คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้งานเป็นประจำ แต่หากเราใช้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมก็สามารถประหยัดไฟได้ และวิธีการเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เหมาะกับการใช้งาน ก็ช่วยประหยัดไฟได้อีกทาง แต่หากอยากประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายในบ้านได้ง่ายๆ อีกวิธี ก็ต้องเป็นการติดตั้งโซลาร์เซลล์ กับ Ewave มาพร้อมบริการหลังการขาย เพื่อให้มั่นใจคุณภาพและการบริการในการติดตั้ง