เพราะค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายคนเลือกที่จะมองหาแหล่งพลังงานทางเลือกที่จะช่วยประหยัดค่าไฟ โดยพลังงานจากโซลาร์เซลล์ได้กลายเป็นแหล่งพลังงานที่หลายคนตัดสินใจเลือกใช้ เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟได้แล้ว ยังเป็นแหล่งพลังงานที่มีให้ใช้ไม่จำกัด อีกทั้งยังถือเป็นพลังงานสะอาด ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
ทั้งนี้ การเลือกใช้โซลาร์เซลล์ก็จำเป็นต้องพิจารณาเลือกประเภทของโซลาร์เซลล์ โดยแผงโซลาร์เซลล์แต่ละประเภทก็จะมีข้อดี และข้อเสียแตกต่างกันไป วันนี้ทาง Ewave จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแผงโซลาร์เซลล์ว่ามีกี่แบบ เพื่อช่วยให้ผู้ที่สนใจสามารถเลือกแผงโซลาร์เซลล์ไปใช้งานได้อย่างเหมาะสม
แผงโซลาร์เซลล์ คืออะไร
แผงโซลาร์เซลล์ (Solar Panel) เป็นอุปกรณ์หลักที่มีความสำคัญสำหรับระบบโซลาร์เซลล์ โดยเกิดจากการนำเอาผลึกซิลิคอน (Crystalline Silicon) มาจัดเรียงอยู่ด้วย ซึ่งผลึกซิลิคอนเหล่านี้จะมีองค์ประกอบทางเคมีที่ไม่เหมือนกัน และความแตกต่างที่เกิดขึ้นจะทำให้แผงโซลาร์เซลล์มีความสามารถในการเปลี่ยนพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ดูดซับเอาไว้ ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบของไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ที่สามารถเปลี่ยนไปเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) เพื่อใช้งานได้
ส่วนประกอบของแผงโซลาร์เซลล์
แผงโซลาร์เซลล์มีส่วนประกอบที่สำคัญอยู่ด้วยกัน 6 ชั้น ที่จะทำงานประสานกัน เพื่อเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะต้องมีอยู่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์เซลล์ประเภทไหนก็ตาม
- Glass เป็นกระจกใสนิรภัย (Tempered Glass) ที่อยู่ติดกับขอบด้านนอกสุด ทำหน้าที่คอยห่อหุ้มป้องกันระบบโซลาร์เซลล์จากการถูกทำลายจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเศษวัตถุต่างๆ อย่างหิน กรวด หรือทราย ที่สร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ในโซลาร์เซลล์ นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ช่วยส่องกระทบแสงจากดวงอาทิตย์ให้ผ่านไปยังโซลาร์เซลล์ด้านใน เพื่อเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า
- EVA (Ethylene Vinyl Acetate) Film เป็นชั้นฟิล์มที่อยู่ถัดมาจากชั้นกระจก โดยฟิล์มดังกล่าวจะมีความบาง และมีความยืดหยุ่นสูง ช่วยป้องกันความชื้น เนื่องจากความชื้นจะทำให้โซลาร์เซลล์ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- Solar Cells เป็นองค์ประกอบหลักที่ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยจะประกอบไปด้วยโซลาร์เซลล์หลายๆ เซลล์เรียงกันแบบอนุกรม ซึ่งจะมีจำนวนประมาณ 36 เซลล์ต่อ 1 แผง
- Fiberglass Cloth ผลิตจากวัสดุที่มีความทนทานเป็นอย่างมาก โดยจะเป็นชั้นที่ช่วยเสริมเข้าไปเพื่อเพิ่มความแข็งแรง และป้องกันความเสียหายให้กับโซลาร์เซลล์
- EVA (Ethylene Vinyl Acetate) Film ชั้นฟิล์มชั้นที่ 2 มีความเหมือนกับชั้นฟิล์มชั้นแรก ที่มีความบาง และมีความยืดหยุ่น ทำหน้าที่ป้องกันความชื้น
- PVF or Other Back Cover Film เป็นส่วนที่อยู่ล่างสุด ทำหน้าที่เป็นส่วนที่ห่อหุ้มชั้นฟิล์มจากทางด้านล่างสุด มักจะผลิตจากวัสดุหลากหลายประเภท
แผงโซลาร์เซลล์มีทั้งหมดกี่แบบ อะไรบ้าง?
แม้ว่าแผงโซลาร์เซลล์จะทำงานเหมือนๆ กันในแง่ของการเปลี่ยนพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่แผงโซลาร์เซลล์กลับมีหลายประเภทให้เลือก แล้วแผงโซลาร์เซลล์นั้นมีกี่แบบกันแน่ แต่ละแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร ไปดูกัน!
1. แผงโมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells)
แผงโซลาร์เซลล์แบบแผงโมโนคริสตัลไลน์นั้น ผลิตจากผลึกซิลิคอนเชิงเดี่ยวที่เรียกว่า Mono-Si หรือ Single-SI มีความบริสุทธิ์สูง โดยลักษณะของซิลิคอนจะเป็นแบบแท่ง มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสตัดมุมทั้ง 4 มุม และยังมีสีเข้ม จะสังเกตเห็นเส้นสีเงินที่จะช่วยทำหน้าที่เหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้า ถือเป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูงเลยทีเดียว
ข้อดี
- มีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากใช้วัสดุซิลิคอนเกรดบริสุทธิ์ที่มีคุณภาพสูง ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 15-20%
- มีประสิทธิภาพต่อพื้นที่สูงสุด เนื่องจากสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูงในแต่ละแผง ทำให้ใช้เพียงไม่กี่แผง ก็สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอ ดังนั้น ใครที่มีพื้นที่จำกัดในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ก็ควรเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดนี้
- มีอายุการใช้งานยาว โดยมีอายุการใช้งานมากกว่า 25 ปีขึ้นไป ทำให้ติดตั้งครั้งเดียว สามารถใช้งานได้ยาว และคืนทุนจากการติดตั้งได้เร็ว
- สามารถผลิตไฟฟ้าได้แม้จะอยู่ในภาวะแสงน้อย แตกต่างจากแผงโซลาร์เซลล์ชนิดอื่นที่ไม่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถ้าหากแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอ
- ดีไซน์สวย โดดเด่น เพราะเป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตจากซิลิคอนบริสุทธิ์ มีลักษณะสีเข้ม มีความเงา และแวววาว จึงสามารถประดับตกแต่ง เพิ่มมิติที่โดดเด่นให้กับที่อยู่อาศัยมากขึ้น
ข้อเสีย
- มีราคาแพง เพราะแผงโซลาร์เซลล์ชนิดนี้ใช้วัสดุซิลิคอนเกรดดี หากใครมีงบประมาณจำกัด อาจจะต้องมองหาแผงโซลาร์เซลล์ประเภทอื่นแทน
- มีความไวต่อการบดบังแสง หากมีเงามืด ไม่ว่าจะจากเงาไม้ หรือตึกมาตกกระทบเพื่อบดบังแสง จะทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นั้นลดลงอย่างรวดเร็ว
2. แผงโพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells)
แผงโซลาร์เซลล์ประเภทโพลีคริสตัลไลน์ หรือมัลติ-คริสตัลไลน์ (Multi-crystalline, mc-Si) เกิดจากการนำซิลิคอน หรือแก้วไปหลอมให้เหลว แล้วเทลงในแม่พิมพ์ให้เป็นแท่งสี่เหลี่ยม จากนั้นนำเอาแท่งสี่เหลี่ยมแก้วซิลิคอนที่ได้มาตัดเป็นแผ่นที่มีความบาง มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่จะไม่มีการตัดมุม สีของแผงจะเป็นสีน้ำเงินฟ้าที่ไม่เข้มจนเกินไป
ข้อดี
- มีราคาถูกกว่าแบบโมโนคริสตัลไลน์ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีงบประมาณกลางๆ
- มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงในสภาวะที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น
- มีความทนทาน โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 20-30 ปี จึงถือว่ามีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาที่ไม่แพงจนเกินไป
ข้อเสีย
- มีประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 13-16% ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับแผงโซลาร์เซลล์แบบ Mono-Si
- มีประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อพื้นที่ต่ำ เพราะ 1 แผงโซลาร์เซลล์นั้น ผลิตไฟฟ้าได้ไม่มากเท่าที่ควร ทำให้ต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์หลายแผง จึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีพื้นที่ติดตั้งที่จำกัด
- ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าน้อยลงเมื่อแสงมีความเข้มน้อย ถ้าหากอยู่ในช่วงที่ฟ้าครึ้ม ไม่ค่อยมีแสง อาจผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ไม่มาก
3. อะมอร์ฟัสซิลิคอน (Amorphous)
แผงโซลาร์เซลล์ประเภทอะมอร์ฟัสซิลิคอน หรือแผงโซลาร์เซลล์แบบฟิล์มบาง เกิดจากการนำซิลิคอนแบบ Amorphous Silicon (a-Si) มาฉาบเป็นฟิล์มที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ ซ้อนกันหลายชั้น ทำหน้าที่ดูดซับแสงอาทิตย์เพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า
ข้อดี
- มีราคาถูกที่สุด เนื่องจากใช้ซิลิคอนมาฉาบเป็นฟิล์มบาง จึงทำให้มีต้นทุนต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่มีงบประมาณติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่จำกัด
- มีความทนทานต่ออุณหภูมิสูง ทำให้เมื่ออากาศร้อนมากๆ ประสิทธิภาพในการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์ก็ยังไม่ลดลงไป
- มีความยืดหยุ่นสูงกว่าแผงโซลาร์เซลล์แบบคริสตัลไลน์ เนื่องจากเป็นแผ่นฟิล์มบาง จึงสามารถดัดแปลงรูปทรงได้ตามพื้นที่
- ไม่เกิดปัญหาวงจรไหม้หากมีสิ่งสกปรกอยู่ที่แผง เพราะแผงโซลาร์เซลล์ชนิดนี้ไม่ได้มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมมากนัก โดยเฉพาะกับความสกปรก หรือเงาตกกระทบ ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องวงจรไหม้ หรือประสิทธิภาพของการทำงานที่ลดลง
ข้อเสีย
- มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7-13% เท่านั้น ทำให้ส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้ามาก เช่น เครื่องคิดเลข หรือนาฬิกา เป็นต้น
- มีประสิทธิภาพต่อพื้นที่ต่ำ เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์ชนิดนี้ 1 แผง ผลิตไฟฟ้าได้น้อย จึงต้องติดตั้งหลายแผงถึงจะเพียงพอต่อการใช้งาน และใช้พื้นที่ในการติดตั้งค่อนข้างมาก ทำให้ไม่เหมาะกับการติดตั้งบนหลังคาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากหลังคามีพื้นที่จำกัด
- มีอายุการใช้งานสั้น เพราะมีความทนทานน้อย อีกทั้ง การรับประกันการใช้งานจากผู้ผลิตก็ค่อนข้างสั้นกว่าแผงโซลาร์เซลล์ชนิดอื่น ทำให้ใช้งานได้ไม่ยาวนาน
วิธีเลือกซื้อแผงโซลาร์เซลล์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน
หลังจากที่รู้กันไปแล้วว่าแผงโซลาร์เซลล์มีกี่แบบ ก็มาถึงขั้นตอนที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือวิธีการเลือกแผงโซลาร์เซลล์แต่ละประเภทอย่างไรดี ถึงจะเหมาะสมกับการใช้งาน และการันตีได้ว่าจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้จริง
เลือกให้เหมาะสมต่อการใช้งาน
ขั้นตอนแรก ต้องดูว่าจุดประสงค์การใช้งานโซลาร์เซลล์ของคุณนั้นเป็นอย่างไร โดยทั่วไป แผงโซลาร์เซลล์จะมีทั้งหมด 3 ประเภท โดยประเภทที่เหมาะกับการใช้งานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือน หรือภาคธุรกิจ คือแบบ Mono-Si และ Poly-Si ที่ถือว่ามีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าที่ใกล้เคียงกัน แต่แผงโซลาร์เซลล์แบบ Mono-Si นั้น อาจมีประสิทธิภาพเหนือกว่าเล็กน้อย และเหมาะสำหรับการติดตั้งในพื้นที่จำกัด ส่วนแผงโซลาร์เซลล์แบบ Poly-Si นั้น แม้จะมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าที่น้อยกว่า แต่กลับมีราคาที่ถูกกว่า ดังนั้น หากคุณมีพื้นที่ติดตั้งที่เพียงพอ การใช้แผงโซลาร์เซลล์แบบ Poly-Si ก็อาจจะคุ้มค่ากับต้นทุนมากกว่าก็ได้
เลือกสีให้เข้ากันกับสีหลังคา
แน่นอนว่าความสวยงามก็มีความสำคัญด้วยเช่นกันสำหรับการเลือกแผงโซลาร์เซลล์ เพราะถือว่าเป็นของประดับภายนอกอาคารที่ทุกคนต่างก็มองเห็น ดังนั้น หากคุณต้องการรักษาความสมดุลของดีไซน์ตัวอาคารหรือบ้าน ก็ควรจะเลือกแผงโซลาร์เซลล์ที่มีสีเข้ม และมีความกลมกลืนเข้ากับหลังคา หรือพื้นที่ที่ติดตั้ง รวมไปถึงขนาดที่ติดตั้งก็ต้องเหมาะสม ไม่ดูใหญ่จนกินพื้นที่หลังคา หรือบริเวณโดยรอบจนเกินไป
ดูกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า
กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ สำหรับการเลือกแผงโซลาร์เซลล์ โดยต้องเลือกให้เหมาะสมกับปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าของพื้นที่ที่จะติดตั้ง โดยต้องคิดคำนวณให้ถูกต้อง เพื่อจะได้เลือกซื้อแผงโซลาร์เซลล์ และออกแบบการติดตั้งอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอต่อการใช้งาน ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงจำนวนแผงโซลาร์เซลล์ที่ต้องติดตั้งด้วย เพื่อจะได้พิจารณาทั้งพื้นที่ที่ต้องการติดตั้ง และค่าใช้จ่ายที่จะต้องลงทุน
พิจารณาคุณภาพของโซลาร์เซลล์
โซลาร์เซลล์ที่มีคุณภาพดี ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพของการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ถ้าโซลาร์เซลล์มีคุณภาพต่ำ ก็อาจทำให้แผงโซลาร์เซลล์ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามที่ต้องการ โดยสามารถดูจากตัวชี้วัดสำคัญอย่าง ประสิทธิภาพของโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะมีสูตรคำนวณดังนี้
ประสิทธิภาพของโซลาร์เซลล์ (%) = (กำลังไฟฟ้าที่โซลาร์เซลล์ผลิตได้ (W) / กำลังงานของแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบโซลาร์เซลล์ (W)) x 100
เลือกจากความน่าเชื่อถือของผู้ผลิตโซลาร์เซลล์
แผงโซลาร์เซลล์มีราคาสูง ทั้งในส่วนของราคาอุปกรณ์ ค่าติดตั้ง และค่าบำรุงรักษา ดังนั้น จึงควรเลือกให้ดีโดยเฉพาะการพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ โดยจะต้องเป็นผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองจากมอก. หรือมาตรฐานสากล IEC ซึ่งถือเป็นหน่วยงานกลางที่จะคอยตรวจสอบ และรับรองอุปกรณ์เหล่านี้
นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาดูจากรีวิวของผู้ที่เคยติดตั้ง ถ้าหากเป็นผู้ผลิตที่มีลูกค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะจากองค์กรใหญ่ๆ ก็จะยิ่งมีความน่าเชื่อถือมาก อีกทั้งยังควรต้องพิจารณาถึงการรับประกันด้วยเช่นกัน เพราะการใช้โซลาร์เซลล์ไม่ได้จบแค่ที่การติดตั้ง แต่ยังต้องใช้งานอีกยาวนาน จึงควรมีการรับประกันที่คุ้มครองให้อุ่นใจด้วย
สรุป
ทาง Ewave ก็หวังว่าข้อมูลที่ได้นำเสนอนั้น จะช่วยให้รู้จักแผงโซลาร์เซลล์ได้ดียิ่งขึ้น ว่ามีกี่แบบ โดยอย่างที่ได้แนะนำกันไปแล้วว่า แผงโซลาร์เซลล์นั้นมีทั้งหมด 3 ประเภท ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีข้อแตกต่าง ทั้งข้อดี และข้อเสีย โดยแผงโซลาร์เซลล์แบบโมโนคริสตัลไลน์นั้นมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงสุด แต่ก็มีราคาแพงสุด ส่วนแผงโซลาร์เซลล์แบบโพลีคริสตัลไลน์อาจจะมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้ากลางๆ แต่ก็มีราคาที่ประหยัดกว่า และแผงโซลาร์เซลล์แบบฟิล์มบาง หรืออะมอร์ฟัสซิลิคอน ที่มีประสิทธิภาพต่ำ ไม่เหมาะสำหรับการติดตั้งบนหลังคา เพราะเหมาะกับการใช้ในอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กมากกว่า
นอกจากจะรู้ว่าแผงโซลาร์เซลล์มีกี่แบบแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการเลือกซื้อแผงโซลาร์เซลล์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน และเลือกแผงโซลาร์เซลล์ที่มีคุณภาพดี ซึ่งทาง Ewave นั้นมีความเชี่ยวชาญในการทำงานด้านพลังงานมามากว่า 18 ปี สามารถให้บริการ ให้คำปรึกษา ช่วยออกแบบ และติดตั้ง อีกทั้งยังคอยดูแล และให้บริการอย่างใส่ใจ พร้อมสินค้า และอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีคุณภาพ ได้รับการรองมาตรฐาน ทั้งจากไทย และสากล ดังนั้น หากคุณสนใจที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อประหยัดค่าไฟ ก็อย่าลืมนึกถึง Ewave